เรื่องของปุ๋ย ที่คุณควรรู้ก่อนทำสวนทุเรียน

มีทั้งหมด 17 ธาตุ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
๑. จากธรรมชาติ น้ำและอากาศ คาร์บอน( C ) ไฮโดรเจน( H ) ออกซิเจน( O )
๒. ธาตุอาหารหลัก( Macronutrients ) ไนโตรเจน( N ) ฟอสฟอรัส( P ) โพแทสเซียม( K )
๓. ธาตุอาหารรอง( Secondary nutrients ) แคลเซียม( Ca ) แมกนีเซียม( Mg ) กำมะถัน( S )
๔. จุลธาตุ( Micronutrients or trace elements )สังกะสี( Zn ) เหล็ก ( Fe ) แมงกานีส( Mn ) โบรอน( B ) ทองแดง( Cu ) คลอรีน( Cl ) โมลิบดีนัม( Mo ) นิกเกิล( Ni )

ไนโตรเจน ( N ) พืชใช้ในการเจริญเติบโตทางกิ่ง ก้าน ใบ ( vegetative growth ) ในกล้วยไม้ต้องการดอกใหญ่ ช่อยาวก็ต้องใช้เช่นกัน เน้นใช้ยูเรีย ( CO(NH2)2 ) เมื่อต้องการเร่งแรงๆ แอมโมเนียม ( NH4+ )ใช้ในช่วงการติดดอกออกผล ไนเตรท ( NO3- ) ใช้สำหรับคุณภาพก่อนเก็บเกี่ยว

ฟอสฟอรัส ( P ) เน้นให้พืชในระยะแรกเพื่อเพิ่มการเจริญของระบบราก ( plant starter ) พืชจะตั้งตัวได้เร็ว ระบบรากที่ดีก็จะช่วยหาอาหารได้มากขึ้น ในช่วงทำดอกเราใช้ฟอสฟอรัสสูงๆเพื่อกดไนโตรเจน ซึ่งเป็นวิธีปกติที่พวกเราชอบใช้ เพราะในช่วงเร่งการเจริญเติบโตเรามักจะชอบเหยียบ 180 พอจะหยุดก็เลยต้องเบรคแรงๆหน่อย ใช้ปุ๋ยฟอสฟอรัสสูงๆที่มีราคาแพงกว่าตัวอื่น

โพแทสเซียม ( K ) เปรียบเหมือนเป็นพ่อบ้านใหญ่ เพราะเป็นตัวควบคุมระบบต่างๆในต้น ในกล้วยไม้เราเน้นไปที่ความหนา ความมีเนื้อของดอกและใบ

ถ้าเป็นละคร N P K ก็เป็นเหมือนตัวพ่อตัวแม่
แมกนีเซียม ( Mg )ตัวพระรอง โบรอน (B )ตัวนางเอก จุลธาตุที่เหลือก็เป็นผู้ช่วยพระเอกนางเอก ขาดไม่ได้เดี๋ยวละครไม่สนุก
แคลเซียม ( Ca ) ช่วยเรื่องโครงสร้าง พืชจะแข็งแรงแค่ไหนก็ดูจากตัวนี้ เปรียบเหมือนเราสร้างรั้วล้อมบ้านตรงไหนอ่อนปูนตรงนั้นก็เป็นจุดอ่อน แต่พืชเจริญเติบโตทุกด้านตลอดเวลา การให้จึงเน้นให้น้อยๆแต่บ่อยๆครั้ง โครงสร้างที่แข็งแรงไม่มีจุดอ่อน ก็จะทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมได้ดี ทนร้อนทนแล้ง ทนฝนทนหนาว ดอกไม่ร่วงไม่ฝ่อ อื่นๆอีกมากมาย
แมกนีเซียม ( Mg ) เป็นแกนกลางของคลอโรฟิลล์ ส่วนที่เป็นสีเขียวเป็นตัวจับพลังงานเพื่อปรุงอาหารเปลี่ยนน้ำและอากาศให้ เป็นแป้งและน้ำตาล แต่การสร้างคลอโรฟิลล์ต้องมีผู้ช่วยพระเอกนางเอกเป็นตัวเร่งขาดไม่ได้ ( คลอโรฟิลล์ 1 โมเลกุล มีแมกนีเซียม 1 อะตอมเป็นแกนกลาง ไนโตรเจน 4 อะตอมและ CHO อีกหลายสิบอะตอม แต่การสังเคราะห์ต้องใช้ เหล็ก เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา )
โบรอน ( B ) ทำงานคู่กับพระเอก เน้นในเรื่องการติดดอก ออกผล ฝักจะติดดีมีเมล็ดเต็มสมบูรณ์ เมล็ดงอกดีไม่มีฝ่อ คุณภาพหลังเก็บเกี่ยวดี
ผู้ช่วยพระเอกนางเอก กำมะถัน สังกะสี เหล็ก แมงกานีส ทองแดง คลอรีน เน้นในเรื่องสีสันสดใส รสชาติดี มีความสมบูรณ์
เฉพาะโมลิบดีนัมและนิคเกิล ที่พวกเรานิยมใช้ในช่วงหลัง เนื่องจากเราเร่งไม้ด้วยไนโตรเจนมากๆ 2 ธาตุนี้จะไปช่วยให้พืชใช้ไนโตรเจนได้ดีขึ้น ( โมลิบดีนัม กระตุ้นเอนไซม์ไนเตรทรีดักเตส นิกเกิล กระตุ้นเอนไซม์ยูรีเอส) มีข้อน่าเป็นห่วงที่พืชต้องการน้อยมากๆ แต่ในผลิตภัณฑ์ที่มีวางขายในปัจจุบันทุกคนจะบอกว่ามีและมี%สูงๆ กลัวว่าถ้าใช้ต่อเนื่องจะเกิดเป็นพิษ ( Phytotoxic ) และไม่รู้ว่าเกิดจาก สาเหตุอะไร ขอให้ระวัง

หัวใจของธาตุอาหารต่างที่เราต้องรู้ ชื่อธาตุ(ทั้งไทยและอังกฤษ) สัญลักษณ์ น้ำหนักอะตอม(น้ำหนักตัว)
รูปที่พืชดูดไปใช้

คาร์บอน Carbon C 12 CO2
ออกซิเจน Oxygen O 16 O2,H2O
ไฮโดรเจ Hydrogen H 1 H2O
ไนโตรเจน Nitrogen N 14 NO3-,NH4+
ฟอสฟอรัส Phosphorus P 31 H2PO4=,HPO4=
โพแทสเซียม Potassium K 39 K+
แคลเซียม Calcium Ca 40 Ca++
แมกนีเซียม Magnesium Mg 24 Mg++
กำมะถัน Sulfur S 32 SO3=,SO4=
สังกะสี Zinc Zn 65.5 Zn++
เหล็ก Iron Fe 56 Fe++
แมงกานีส Manganese Mn 55 Mn++
โบรอน Boron B 11 H3BO3
ทองแดง Copper Cu 63.5 Cu++
คลอรีน Chlorine Cl 35.5 Cl-
โมลิบดีนัม Molybdenum Mo 96 MO4=
นิกเกิล Nickel Ni 58.7 Ni++

สิ่งที่เอามาแนะนำคือข้อมูลเบื้องต้นที่เราควรรู้ เรียกชื่อให้ถูก เขียนสัญลักษณ์ให้เป็น รู้น้ำหนักตัวของแต่ละ ธาตุ จะช่วยให้เราคำนวณหา%เนื้อในองค์ประกอบได้ ธาตุเดี่ยวๆที่มีประจุ ++ เป็นกลุ่มโลหะสามารถทำเป็นรูปคีเลท ( Chelate )ได้
กลุ่ม +/- อื่นๆแสดงให้เรารู้ว่าเป็นกรดหรือด่าง และเป็นการสื่อให้เรารู้ว่าเค้าจะจับกันเป็นรูปแบบไหน

รูปของปุ๋ยที่เราใช้กันทางการเกษตรหลักๆก็มี
1. ปุ๋ยเม็ด ( Granular fertilizer ) เป็นปุ๋ยที่ใช้ใส่ให้พืชทางดิน แม่ปุ๋ยที่ใช้เป็นเกลือคลอไรด์ เกลือฟอสเฟต เกลือซัลเฟต เกลือไนเตรทและยูเรีย
2. ปุ๋ยเกล็ด ปุ๋ยให้ทางใบ ปุ๋ยทางระบบน้ำ ( Foliar or Fertigation fertilizer ) เป็นปุ๋ยที่ละลายน้ำ แล้วฉีดพ่นไปบนพืชหรือให้ไปทางระบบรดน้ำ ปกติปุ๋ยเกล็ดโดยทั่วไปจะละลายน้ำได้ประมาณ 400 กรัม/น้ำ 1 ลิตร ที่ 20 องศาเซลเซียส แม่ปุ๋ยที่ใช้เป็น เกลือฟอสเฟต เกลือซัลเฟต เกลือไนเตรท และ ยูเรีย
3. ปุ๋ยน้ำ ( Liquid fertilizer ) เป็นการใช้ปุ๋ยเกล็ดมาละลายน้ำ ใช้ฉีดพ่นหรือให้ไปทางระบบน้ำได้เหมือนกัน แต่เนื้อปุ๋ยในปุ๋ยน้ำจะต่ำกว่าปุ๋ยเกล็ด เพราะขึ้นอยู่กับความสามารถในการละลายตัวของแม่ปุ๋ยที่นำมาใช้ ข้อเสียเปรียบคือ เนื้อปุ๋ยต่ำกว่า ต้องมีภาชนะบรรจุเฉพาะ เปลืองพื้นที่ในการขนส่ง ราคาต่อหน่วยเนื้อปุ๋ยแพงกว่า
4. ปุ๋ยควบคุมการละลาย ( Control release fertilizer ) เป็นการนำปุ๋ยเกล็ดมาเคลือบด้วยสารต่างๆ เพื่อควบคุมการปลดปล่อยปุ๋ยออกมา โดยปกติทั่วไปจะปลดปล่อยมากน้อยขึ้นกับความชื้นหรืออุณหภูมิ เช่น ออสโมโคทขึ้นกับความชื้น เทอร์โมโคทขึ้นกับอุณหภูมิ

ปุ๋ย
เป็นเกลือของธาตุที่เกิดจากกรดและด่างทำปฏิกิริยากันที่นิยมเอามาใช้เช่น
กรดเกลือ ( HCl Hydrochloric acid )
เป็นเกลือคลอไรด์ ( Chloride ) เช่น
โพแทสเซียมคลอไรด์ ( KCl 0-0-60 + Cl 47% )

กรดฟอสฟอริก ( H3PO4 Phosphoric acid )
เป็นเกลือฟอสเฟต ( Phosphate ) เช่น โมโนแอมโมเนียมฟอสเฟต ( NH4H2PO4 12-60- 0 ) ไดแอมโมเนียมฟอสเฟต ( (NH4)2HPO4 20-50-0 ) โมโนโพแทสเซียมฟอสเฟต ( KH2PO4 0-52-34 ) ไดโพแทสเซียมฟอสเฟต ( K2HPO4 0-42-56 )

กรดกำมะถัน ( H2SO4 Sulfuric acid )
เป็นเกลือซัลเฟต ( Sulfate ) เช่น
โพแทสเซียมซัลเฟต ( K2SO4 0-0-50 + S 18% )
แอมโมเนียมซัลเฟต ( (NH4)2SO4 21-0-0 + S 24% ) แคลเซียมซัลเฟต ( CaSO4 Ca 29% + S 23% )

กรดไนตริก ( HNO3 Nitric acid )
เป็นเกลือไนเตรท ( Nitrate ) เช่น โพแทสเซียมไนเตรท ( KNO3 13-0-46 ) แคลเซียมไนเตรท ( Ca(NO3)2 15-0-0 + Ca 19% ) แมกนีเซียมไนเตรท ( Mg(NO3)2 11-0-0 + Mg 10% )

เรื่องของปุ๋ยจริงๆแล้วก็ไม่ได้มีมากกว่านี้ ค่อยๆอ่าน ทำความเข้าใจไปทีละขั้น สิ่งที่เราต้องรู้ต่อคือสูตรโครงสร้างของเกลือแต่ละชนิด การอ่านชื่อให้ถูกต้อง (ย้อนไปดูที่ผ่านมา)

เราสามารถคำนวณสูตรธาตุอาหารของเกลือแต่ละชนิด โดยแทนค่าสูตรเคมีด้วยน้ำหนักอะตอม ตัวอย่างเช่น

ยูเรีย CO(NH2)2 = 12+16+(14+14+1+1+1+1) = 60

ยูเรีย 60 หน่วยน้ำหนัก มี N = 28
ยูเรีย 100 หน่วยน้ำหนัก มี N = 28×100/60 = 46.66
ยูเรีย มีสูตร 46-0-0

โพแทสเซียมไนเตรท KNO3 = 39+14+16×3 = 101

โพแทสเซียมไนเตรท 101 หน่วยน้ำหนัก มี N = 14
โพแทสเซียมไนเตรท 100 หน่วยน้ำหนัก มี N = 14×100/101 = 13.86

โพแทสเซียมไนเตรท 101 หน่วยน้ำหนัก มี K = 39
โพแทสเซียมไนเตรท 100 หน่วยน้ำหนัก มี K = 39×100/101 = 38.61 ( K2O = 1.2K ) K2O = 1.2×38.61 = 46.33
โพแทสเซียมไนเตรท มีสูตร 13-0-46

โมโนโพแทสเซียมฟอสเฟต KH2PO4 = 39+1×2+31+16×4 = 136

โมโนโพแทสเซียมฟอสเฟต 136 หน่วยน้ำหนัก มี P = 31
โมโนโพแทสเซียมฟอสเฟต 100 หน่วยน้ำหนัก มี P = 31×100/136 = 22.79 (P2O5 = 2.29P) P2O5 = 2.29×22.79 = 52.19

โมโนโพแทสเซียมฟอสเฟต 136 หน่วยน้ำหนัก มี K = 39
โมโนโพแทสเซียมฟอสเฟต 100 หน่วยน้ำหนัก มี K = 39×100/136 = 28.76 (K2O = 1.2 K) K2O = 1.2×28.76 = 34.41
โมโนโพแทสเซียมฟอสเฟต มีสูตร 0-52-34

ขอแนะนำแม่ปุ๋ยที่ใช้ผลิตปุ๋ยเกล็ด

แม่ปุ๋ยไนโตรเจน
ยูเรีย CO(NH2)2 46-0-0
แอมโมเนียมซัลเฟต (NH4)2SO4 21-0-0+S 24%

แม่ปุ๋ยไนโตรเจน-ฟอสฟอรัส
โมโนแอมโมเนียมฟอสเฟต NH4H2PO4 12-60-0
ไดแอมโมเนียมฟอสเฟต (NH4)2HPO4 20-50-0

แม่ปุ๋ยไนโตรเจน-โพแทสเซียม
โพแทสเซียมไนเตรท KNO3 13-0-46

แม่ปุ๋ยฟอสฟอรัส-โพแทสเซียม
โมโนโพแทสเซียมฟอสเฟต KH2PO4 0-52-34
ไดโพแทสเซียมฟอสเฟต K2HPO4 0-42-56

แม่ปุ๋ยโพแทสเซียม
โพแทสเซียมซัลเฟต K2SO4 0-0-50+S 18%

ธาตุอาหารรองจุลธาตุ ที่นิยมใช้ให้ทางใบ

เกลือไนเตรต
แคลเซียมไนเตรท Ca(NO3)2 15-0-0+Ca 19% แมกนีเซียมไนเตรท Mg(NO3)2 11-0-0+Mg 10%

เกลือซัลเฟต  
แมกนีเซียมซัลเฟต MgSO4
สังกะสีซัลเฟต ZnSO4
เหล็กซัลเฟต FeSO4
แมงกานีสซัลเฟต MnSO4
ทองแดงซัลเฟต CuSO4
นิคเกิลซัลเฟต NiSO4

อื่นๆ
แอมโมเนียมโมลิบเดต (NH4)2MoO4
โซเดียมโมลิบเดต Na2MoO4
บอริคแอซิด H3BO3
โซเดียมบอเรต Na2B4O7

เกลือซัลเฟตของธาตุอาหารรอง-จุลธาตุ ที่ใช้ให้ทางใบ เวลาซื้อจะต้องบอกผู้ขายว่า ต้องการเกลือที่มี หนึ่งน้ำ สองน้ำ ห้าน้ำ เจ็ดน้ำ เป็นต้น เหตุผลคือเกลือซัลเฟต ปกติจะละลายน้ำยาก นิยมใช้ให้ทางดิน ถ้าใช้ฉีดพ่นให้ทางใบจะต้องซื้อในรูปที่มีน้ำอยู่ด้วย ยิ่งมีน้ำเยอะก็ยิ่งละลายง่าย แต่ปริมาณเนื้อธาตุก็จะน้อยลง

ในส่วนของ คีเลท ( Chelate ) ที่ใช้ในการเกษตร
คีเลทธรรมชาติ ลิกโนซัลโฟเนท
ฟีโนลิคแอซิด
คาร์บอกซิลิคแอซิด
คีเลทสังเคราะห์ อีดีทีเอ ดีทีพีเอ อีดีดีเอชเอ เอชอีดีทีเอ

สุดท้ายนี้ ถ้ามีคนมาบอกคุณว่าใช้ปุ๋ยของเค้าตัวเดียว ชวดเดียวครบทุกอย่างไม่ต้องใช้ตัวอื่นแล้ว แน่นอนครับว่า ไม่มีทางเป็นไปได้ คุณกำลังโดนหลอก

เรียบเรียงและส่งต่อความรู้โดย
อ.สุรชัย ซอปิติพร
Fb.Surachai sawpitiporn

ใส่ความเห็น